กิจกรรมที่ 2.การเล่นดนตรี
1. ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านบุคลิกภาพและความเป็นตัวตน
การได้ทำกิจกรรมดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี เต้นรำ ดนตรีจะเป็นเหมือนสื่อกลางที่ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและความเป็นตัวตนให้บุคคล นั้นมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ มีเด็กวัยรุ่นหลายคนที่เป็นคนขี้อายและดูเหมือนเป็นคนไม่ได้เรื่องได้ราว แต่เมื่อได้มาเล่นดนตรีก็ได้ค้นพบตัวเองว่ามีความสุขและเมื่อรู้ว่าตนมีความสามารถในด้านดนตรีก็ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกและมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
2.ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านอารมณ์
องค์ประกอบสำคัญของดนตรีคือ คำร้อง จังหวะและทำนอง ซึ่งเมื่อมารวมกันจะเกิดเป็นเพลงๆหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในเพลงแต่ละเพลงนั้นต่างก็มีลักษณะหรือเอกลักษณ์ของดนตรีที่แตกต่างกันออกไป เพลงที่มีทำนองและจังหวะช้าๆทำให้รู้สึกสงบ มีสมาธิและผ่อนคลาย เพลงที่มีทำนองและจังหวะเร็วๆช่วยทำให้อารมณ์ครึกครื้น กระฉับกระเฉงและอยากเคลื่อนไหวร่างกาย เพลงที่มีคำร้องเศร้าสะเทือนใจจะทำให้คนฟังอารมณ์อ่อนไหวตามไปด้วย ในขณะที่เพลงที่มีคำร้องปลุกใจให้รักชาติ จะทำให้คนฟังมีความคึกคัก ฮีกเหิมและกล้าหาญตามไปด้วย
3. ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญา
มีงานวิจัยมากมายที่ยอมรับว่า ดนตรีสามารถพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ได้ ยิ่งถ้าได้มีการใช้ดนตรีตั้งแต่วัยเด็กด้วยแล้วจะยิ่งเพิ่มศักยภาพของสมองได้มากขึ้นด้วย มีผลการวิจัย (Dr.Thurman) สรุปว่าการที่แม่ตั้งครรภ์ได้ฟังเพลงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีพัฒนาการทางร่างกายและไอคิวสมองสูงและมีอารมณ์แจ่มใส
นอกจากนี้ดนตรียังช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดอย่างมีระบบและในเรื่องของความจำด้วย ดังนั้น การสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมดนตรีควบคู่ไปกับการเรียน เช่น ได้ร้องเพลง ได้ฟังเพลงที่ชอบ ได้เล่นเครื่องดนตรีที่สนใจ จะมีส่วนช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนในวิชาต่างๆเพิ่มสูงขึ้น เพราะดนตรีช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความมีเหตุมีผลกับจินตนาการ จึงทำให้มีการคิดวิเคราะห์หาความเป็นเหตุเป็นผลได้ดียิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น